• Aug 17, 2018
  • By CMSP.
  • Knowledge
  • ประเภทของไฟ, ชนิดของถังดับเพลิง, Types of Fire Extinguisher, Fire Symbol, Fire Extinguisher
  • ชนิดของถังดับเพลิง

    เมื่อเรามีความรู้เรื่องประเภทของไฟแล้ว ต่อไปจะเป็นความรู้ในการเลือกใช้ถังดับเพลิง ซึ่งมีหลายชนิดด้วยกัน แล้วแต่ความเหมาะสมที่จะนำไปใช้ โดยมีดังต่อไปนี้

ชนิดผงเคมีแห้ง (Dry Chemical) / ถังสีแดง
สารเคมีภายในเป็นผงเคมีเอนกประสงค์ ดับไฟได้ทั้งประเภท A,B และ C มีราคาถูก หาซื้อง่าย แต่ข้อเสียคือเมื่อทำการฉีดผงจะฟุ้งกระจาย สกปรก ทิ้งคราบ และแม้จะฉีดไม่หมด ก็ไม่สามารถใช้งานได้แล้ว เนื่องจากแรงดันจะตก ต้องนำไปทำการเติมผงเคมีเข้าไปใหม่

ชนิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) / ถังสีแดง กระบอกฉีดปลายจะใหญ่
สารเคมีภายในบรรจุก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซที่ฉีดออกมาจะเป็นไอเย็นจัด คล้ายน้ำแข็งแห้ง ลดความร้อนของไฟได้ ไม่ทิ้งคราบสกปรก ดับไฟประเภท B และ C ได้ เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องเครื่องจักร Line การผลิต อุตสาหกรรม

ชนิดโฟม / ถังสีเงิน
สารเคมีภายในบรรจุโฟม เมื่อฉีดออกมาจะเป็นฟองโฟมคลุมผิวเชื้อเพลิงที่ลุกไหม้ จึงสามารถดับไฟประเภท A และ B ได้ แต่ไม่สามารถนำไปดับไฟประเภท C ได้เพราะเป็นสื่อนำไฟฟ้า เหมาะสำหรับภาคอุตสาหกรรม ดับเชื้อเพลิงประเภททินเนอร์ และสารระเหยติดไฟ

น้ำสะสมแรงดัน (Water gas หรือ Water pressure) / ถังสีเงิน
ใช้น้ำอัดใส่ถังดับเพลิงสะสมแรงดันเพื่อให้ฉีดออกมาได้แรงดันที่เพิ่มขึ้น ในกรณีนำมาใช้ซึ่งจะทำให้สามารถดับเพลิงได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่เช่นเดียวกันมีข้อควรระวังเช่นกัน คือ ไม่ควรนำเครื่องดับเพลิงประเภทน้ำสะสมแรงดันนี้ไปดับเพลิงประเภท B (เพลิงอันเกิดจากเชื้อเพลิงน้ำมัน) เพราะจำทำให้เกิดการแพร่กระจายเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ได้ตลอดจนห้ามนำไปดับไฟ ประเภท C ด้วยเนื่องจากน้ำเป็นสื่อในการนำไฟฟ้า

ชนิด Halotron-1 / ถังสีเขียว
สารเคมีภายในบรรจุก๊าซ Halotron-1 เมื่อฉีดแล้วจะระเหยไปเอง ไม่ทิ้งคราบสกปรก สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A,B และ C เหมาะสำหรับการใช้งานในห้องคอมพิวเตอร์ คลีนรูม ไลน์การผลิต ห้องไฟฟ้า ห้องเก็บอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากสารเคมีชนิดนี้ค่อนข้างผูกขาดครับ จึงทำให้ถังมีราคาสูง และมีผู้แทนจำหน่ายน้อยรายในประเทศไทย

ชนิดเคมีสูตรน้ำ (Water Mist) / ถังสีฟ้า แสตนเลส หรือสีเขียว
สารเคมีจะเป็นน้ำยาชื่อว่า “ABFFC” ที่ใช้สำหรับการดับไฟได้ดี ไม่เป็นสื่อนำไฟฟ้า สามารถดับไฟได้ทุกประเภท A,B,C และ K ราคากลางๆ แต่จะแพงกว่าถังชนิดเคมีแห้ง เหมาะกับใช้ในบ้าน เนื่องจากสามารถดับไฟที่เกิดจากน้ำมันทอดในครัวเรือนได้ และหากมีการใช้งานแล้ว ฉีดสารเคมีไม่หมด ยังสามารถใช้ต่อจนหมดได้ ถังมีหลายสี แล้วแต่ผู้จำหน่าย

Credit ภาพ : changmuns.blogspot

  • Aug 17, 2018
  • By CMSP.
  • Knowledge
  • ประเภทของไฟ, ชนิดของถังดับเพลิง, Types of Fire Extinguisher, Fire Symbol, Fire Extinguisher
  • ประเภทของเพลิงไหม้

    ก่อนที่เราจะพูดถึงถังดับเพลิง คงต้องอธิบายให้ทราบถึงประเภทต่างๆ ของไฟกันเป็นอันดับแรก เนื่องจากไฟที่เกิดจากเชื้อเพลิงที่ต่างกัน มีวิธีการและสารที่ใช้ดับเพลิงแตกต่างกันออกไป การเลือกใช้ถังดับเพลิงจึงขึ้นอยู่กับสาเหตุการเกิดเพลิงไหม้นั่นเอง ซึ่งชนิดของไฟมีทั้งหมด 5 ประเภท ดังนี้

ไฟประเภท A
เกิดจากการลุกไหม้ของวัสดุที่สามารถเป็นเชื้อเพลิงได้ทั่วๆไป เช่น กระดาษ ไม้ ผ้า ขยะแห้ง พลาสติกบางชนิด ฟาง ปอ ด้าย นุ่น เป็นต้น การดับไฟประเภทนี้สามารถทำได้ด้วยการ ลดอุณหภูมิ และใช้น้ำในการดับได้

ไฟประเภท B
คือไฟที่เกิดจากการลุกไหม้ของของเหลว และก๊าซ เช่น น้ำมัน ยางมะตอย ของเหลวไวไฟ แอลกอฮอล์ ทินเนอร์ เนื่องจากเชื้อเพลิงของไฟประเภทนี้เป็นของเหลวและไหลไปในวงกว้างได้ ทำให้เกิดไฟลุกลามได้ง่าย สามารถดับไฟประเภท B ได้ด้วยการจำกัดออกซิเจน โดยใช้ผงเคมีแห้ง หรือโฟม

ไฟประเภท C
เป็นไฟประเภทเดียวที่ไม่ได้จำแนกด้วยชนิดของเชื้อเพลิง แต่แบ่งออกมาเนื่องจากเป็นการเกิดเพลิงไหม้ที่มีกระแสไฟฟ้าเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการเกิดเพลิงไหม้จากอุปกรณ์ไฟฟ้าทุกชนิด วิธีการรับมือกับเพลิงไหม้ประเภทนี้คือ ตัดวงจรไฟฟ้า และใช้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือน้ำยาเหลวระเหยที่ไม่มีสาร CFC

ไฟประเภท D
คือการเกิดเพลิงไหม้จากสสารที่เป็นโลหะ เช่น อลูมิเนียม แม็กนีเซียม โซเดียม ซึ่งเป็นการเผาไหม้ที่มีอุณหภูมิสูง การดับไฟชนิดนี้ห้ามใช้น้ำโดยเด็ดขาด ควรใช้สารดับไฟที่เหมาะสม โดยทั่วไปใช้ผงเคมี อย่างผงโซเดียมคลอไรด์ หรือ ผงแกรไฟต์

ไฟประเภท K
คือไฟที่เกิดจากน้ำมันชนิดติดไฟยาก เช่น น้ำมันทำอาหาร ไขมันสัตว์ มักเกิดบริเวณครัวหรืออุตสาหกรรมอาหาร การดับไฟทำได้โดยการจำกัดออกซิเจน การทำให้อับอากาศ ซึ่งจะมีถังดับเพลิงชนิดพิเศษสำหรับดับไฟประเภทนี้โดยเฉพาะ

Credit : Officemate.blog , changmuns.blogspot